แจกของขวัญช่วงสงกรานต์อย่างไรให้ ประหยัดภาษี และลงรายจ่ายถูกต้อง
เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ของไทย นับเป็นประเพณีนิยมที่หลายธุรกิจมักมอบของขวัญให้แก่ลูกค้า เพื่อแสดงความขอบคุณและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เช่น กระเช้าผลไม้ ของชำร่วยรวมถึงของขวัญที่ใช้แจกเป็นที่ระลึกในช่วงสงกรานต์ เช่น ผ้าขนหนู น้ำอบไทย แต่ในขณะเดียวกัน การแจกของขวัญให้ลูกค้านั้น ต้องคำนึงถึงเรื่องประเด็นภาษีด้วย เนื่องจากกระเช้าของขวัญ หรือแม้แต่การแจกของให้ลูกค้านั้น มีมูลค่าแตกต่างกัน ซึ่งรายจ่ายนั้นจะสามารถนำภาษีซื้อไปหักจากภาษีขายได้หรือไม่ และบริษัทจะนำรายจ่ายค่าของขวัญมาลงเป็นค่าใช้จ่ายอย่างไร โดยไม่ให้กรมสรรพากรบวกกลับ แล้วควรแจกของขวัญอย่างไรให้ ประหยัดภาษี ได้มากที่สุด หาคำตอบได้ที่ บทความนี้เลย
แจกกระเช้าของขวัญในช่วงสงกรานต์อย่างไรให้ ประหยัดภาษี
การมอบกระเช้าของขวัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์นับเป็นประเพณีนิยมที่หลายๆ บริษัทให้ความสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงถึงการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และขอบคุณลูกค้าให้การสนับสนุนกันมาตลอดทั้งปี ของขวัญที่นำไปมอบให้กับลูกค้าดังกล่าว มีประเด็นทางภาษี ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
การให้กระเช้าของขวัญในเทศกาลสงกรานต์แก่ลูกค้า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นถือเป็นค่ารับรอง ซึ่งบริษัทสามารถหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ในการจ่ายซื้อควรเป็นไปตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ การเปิดแนะนำสินค้าใหม่ โดยมีนามบัตรของบริษัทที่ระบุชื่อ ที่อยู่ และเครื่องหมายการค้าของบริษัทติดที่กระเช้าของขวัญ ดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ.2522) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกระทรวงฉบับที่ 222 (พ.ศ.2542) โดยค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลที่ได้รับการรับรองหรือบริการนั้น สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ถ้าค่าใช้จ่ายไม่เกิน 2,000 บาท ต่อบุคคลในแต่ละครั้งที่มีการให้บริการหรือการรับรอง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีซื้อ ที่เกิดจากค่ากระเช้าของขวัญในเทศกาลสงกรานต์แก่ลูกค้าที่เข้าข่ายการรับรอง ดังกล่าว ข้างต้น ไม่สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือนำมาขอคืนภาษีซื้อได้ ตามมาตรา 82/5(4) แห่งประมวลรัษฎากรและ ข้อ 5 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)
ภาษีขาย หากกระเช้าของขวัญ ดังกล่าว เป็นสิ่งของที่บริษัทมอบให้แก่ลูกค้าตามประเพณี ทางธุรกิจทั่วไปและมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร บริษัทไม่ต้องนำมูลค่าของกระเช้า ดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากรและ ข้อ 2(6) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)
โดยสรุป ในกรณีแจกกระเช้าของขวัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้แก่ลูกค้า ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดี แต่ยังสามารถช่วยประหยัดภาษีได้ หากปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษีที่กำหนด สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ค่าใช้จ่ายจากการแจกกระเช้าสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ หากมีมูลค่าไม่เกิน 2,000 บาทต่อบุคคล และต้องมีนามบัตรของบริษัทติดกับกระเช้าด้วย ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) การซื้อกระเช้าสำหรับการแจกไม่สามารถหักภาษีซื้อจากภาษีขายได้ แต่หากกระเช้าของขวัญมีมูลค่าไม่เกินสมควร และเป็นการให้ตามประเพณีทางธุรกิจ บริษัทไม่ต้องนำมูลค่าของกระเช้ามาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากการมอบกระเช้าของขวัญจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเกิดความประทับใจแก่ผู้รับ หากมีการวางแผนการจัดซื้อกระเช้าตามเงื่อนไขเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทประหยัดภาษีอีกด้วย
แจกของขวัญของชำร่วยในช่วงสงกรานต์อย่างไรให้ ประหยัดภาษี
นอกจากการมอบกระเช้าของขวัญแก่ลูกค้าแล้ว การแจกของขวัญ หรือของชำร่วยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็เป็นกิจกรรมส่งเสริมการขายที่สร้างความประทับใจแก่ลูกค้าที่ดีเช่นกัน โดยประเด็นทางภาษีที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ในกรณีที่กิจการมีการแจกของขวัญ หรือของชำร่วยให้กับลูกค้าตามโอกาสแห่งขนมธรรมเนียมประเพณี เช่น เทศกาลสงกรานต์ หรือเทศกาลอื่น ๆ การให้ของขวัญนี้ถือเป็น ค่ารับรอง ซึ่งสามารถนำมาเป็น ค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- ผู้รับของขวัญต้องไม่ใช่ลูกจ้างของกิจการ
เนื่องจากหากเป็นลูกจ้าง จะถือว่าเป็นค่าตอบแทน ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทน - ค่าใช้จ่ายต้องมีผู้มีอำนาจอนุมัติอย่างชัดเจน
เช่น กรรมการ ผู้จัดการ หุ้นส่วน หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายเป็นทางการ - ต้องมีหลักฐานประกอบการใช้จ่ายที่ชัดเจน
ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ หรือเอกสารที่แสดงว่ามีการมอบของขวัญจริง พร้อมระบุชื่อผู้รับ (ถ้ามี) - มูลค่าของขวัญต้องไม่เกินคนละ 2,000 บาทต่อครั้ง
ส่วนที่เกินจะไม่สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้
*เพิ่มเติม เกี่ยวกับค่ารับรอง
นอกจากจะกำหนดมูลค่าสินค้าไม่เกิน 2,000 บาทแล้ว ในสิ้นปีต้องมีการคำนวณค่ารับรองที่สามารถถือเป็นรายจ่ายทางภาษีได้อีกครั้ง โดยค่ารับรองที่บันทึกได้ต้อง ไม่เกิน 0.3% ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย หรือ ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว (แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า) และรายจ่ายที่นำไปหักเป็นค่ารับรองได้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 222 (พ.ศ. 2542) ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหลังหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีซื้อ ที่เกิดจากการซื้อของขวัญแจก เป็นภาษีซื้อต้องห้าม ทำให้ไม่สามารถนำภาษีซื้อไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอเครดิตภาษีคืนได้ ตาม มาตรา 82/5(4) แห่งประมวลรัษฎากรและ ข้อ 5 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)
ภาษีขาย ในกรณีธุรกิจแจกของขวัญ หรือของที่ระลึกแก่ลูกค้า ถือเป็นการขายสินค้า จึงต้องนำมาคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษี อย่างไรก็ตามหากของที่แจกเป็นสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ของขวัญ หรือของชำรวยมีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายทางการค้าของบริษัทปรากฎอยู่ เป็นสิ่งที่ให้ตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไปและมีราคาไม่เกินสมควร ไม่ต้องนำค่าของขวัญ หรือของที่ระลึก ดังกล่าว ไปคำนวณภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยสรุป นอกจากการมอบกระเช้าของขวัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว การแจกของขวัญ หรือของชำร่วยให้กับลูกค้าในโอกาสเทศกาลต่างๆ สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ หากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด การซื้อของขวัญจะไม่สามารถนำภาษีซื้อไปหักจากภาษีขายได้ ขณะที่การแจกของขวัญถือเป็นการขายสินค้าต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากของขวัญที่แจกมีลักษณะทำนองเดียวกัน มีเครื่องหมายการค้าของบริษัทปรากฎอยู่ และราคาไม่เกินสมควร จะไม่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเห็นได้ว่าหากทราบเงื่อนไข ดังกล่าว นี้ก่อนมีการเตรียมการจัดซื้อของขวัญเพื่อนำมาแจกลูกค้าในช่วงเทศกาล ก็จะสามารถ ประหยัดภาษี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลงรายจ่ายอย่างถูกต้อง
สรุป 4 แนวทาง ประหยัดภาษี สำหรับการแจกของขวัญช่วงเทศกาล
การแจกของขวัญให้แก่ลูกค้าในแต่ละแนวทางต่างมี ข้อดี และ ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ประกอบควรเลือกใช้แนวทางที่เหมาะสมกับธุรกิจและสถานการณ์เพื่อวางแผนทางภาษีให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมแนวทางประหยัดภาษีสรุปเป็น 4 แนวทาง สำหรับการแจกของขวัญในรูปแบบต่างๆ ช่วงเทศกาลหรือตามวาระโอกาสสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
- แจกของขวัญแบบ ค่ารับรอง แต่ข้อเสียคือจำกัดมูลค่าสูงสุดเพียงแค่ 2,000 บาทต่อครั้ง
- แจกของขวัญแบบ ส่งเสริมการขาย ข้อดีคือไม่จำกัดมูลค่า แต่ข้อเสียคือต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
- แจก ของที่ระลึก/ของชำร่วย ข้อดีคือไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย แต่ข้อเสียคือต้องสกรีนชื่อบริษัทหรือโลโก้ในตัวสินค้า เพื่อให้เข้าเงื่อนไข และมูลค่าต้องไม่เกินสมควร
- แจก ของแถม สำหรับแนวทางนี้ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย เพียงแต่ของแถมจะต้องระบุในใบกำกับภาษีและต้องไม่เกินมูลค่าสินค้าที่ขาย

อ้างอิง: https://www.rd.go.th/28871.html
หมดปัญหาความยุ่งยากในการจัดทำใบกำกับปัญหาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) ไม่รู้ต้องเริ่มอย่างไรไง ถูกตามมาตรฐานกรมสรรพากรหรือไม่ รวมทั้งไม่ต้องพัฒนาระบบ เเละลงทุนระบบ Server เองที่ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ให้ EtaxEasy เป็นผู้จัดทำ จัดส่ง เเละจัดเก็บเอกสารสำคัญของท่าน เราพร้อมบริการท่านตั้งเเต่ต้นจนจบ ทำให้เรื่องภาษีที่ยุ่งยากกลายเป็นเรื่องง่ายด้วย EtaxEasy